บ้านโฮมฮัก

วันศุกร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

แนะนำเพลงใหม่ สัปดาห์นี้

แพทย์ฉุกเฉินสรุป 1 เดือน ลำเลียงผู้ป่วยฉุกเฉินแล้ว 1,548 ราย ย้ำผู้ป่วยฉุกเฉิน โทรขอความช่วยเหลือทางการแพทย์ที่สายด่วน 1669

นพ.ชาตรี เจริญชีวะกุล เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กล่าวว่า สำหรับปฏิบัติการด้านการแพทย์ฉุกเฉินตั้งแต่เปิดศูนย์การแพทย์ฉุกเฉิน ตั้งแต่วันที่ 9 ตุลาคม – 8 พฤศจิกายน 2554ที่ผ่านมา มีการลำเลียงส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉินแล้วทั้งสิ้น 1,548 ราย โดยแบ่งเป็นการลำเลียงผู้ป่วยทางอากาศโดยเฮลิคอปเตอร์ 86 เที่ยวบิน จำนวน 109 ราย จากเฮลิคอปเตอร์ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กองบินตำรวจ กระทรวงกลาโหม และรพ.กรุงเทพ และลำเลียงผู้ป่วยทางอากาศโดยเครื่องบินฝนหลวง (CASA) ของกระทรวงเกษตรฯ 35 เที่ยวบิน จำนวน 145 ราย และลำเลียงผู้ป่วยฉุกเฉินทางเครื่องบิน C-130 รวม 8 เที่ยวบิน จำนวน 156 ราย นอกจากนี้มีการลำเลียงผู้ป่วยหนักทางรถพยาบาล 509 เที่ยว จำนวน 660 ราย และสนับสนุนการลำเลียงผู้ป่วยทางเรือ 244 เที่ยว จำนวน 372 ราย

นพ.ชาตรี กล่าวต่อว่า สำหรับสถานการณ์ด้านการแพทย์ฉุกเฉินขณะนี้ สพฉ. ได้สำรองแผนสำหรับปฏิบัติการด้านการแพทย์ฉุกเฉินแล้ว เพื่อให้การปฏิบัติการคล่องตัว โดยมีจุดศูนย์กลางอยู่ที่กระทรวงสาธารณสุข ที่อาคารสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ซึ่งจะมีรถ เและเฮลิคอปเตอร์ จอดเตรียมพร้อมรับผู้ป่วย รวมทั้งแบ่งจุดย่อยเป็นฝั่งตะวันตก และฝั่งตะวันออก พร้อมทั้งกระจายการให้บริการกู้ชีพทางเรือตามจุดย่อย อาทิ จุดบางพลัด จุดดอนเมือง เป็นต้น เพื่อความสะดวก และรวดเร็วในการช่วยเหลือผู้ป่วย



อย่างไรก็ตาม สพฉ. ยังเน้นการให้บริการการแพทย์ฉุกเฉินก่อนถึงโรงพยาบาล (pre-hospital) มากขึ้น เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินในพื้นที่ โดยผู้ป่วยฉุกเฉินหรือผู้ประสบเหตุสามารถโทรแจ้งขอความช่วยเหลือได้ที่สายด่วน 1669 หรือ 085-259-1669 บริการฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง

วันพฤหัสบดีที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ

ประวัติองค์กร

สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) เป็นสถาบันที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการแพทย์ฉุกเฉินปี พ.ศ. 2551 เพื่อเป็นองค์กรรับผิดชอบการบริหารจัดการ การประสานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ และเอกชน รวมถึงการส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นให้เข้ามามีบทบาทในการบริหารจัดการการจัดบริการการแพทย์ฉุกเฉิน ทั้งนี้เหตุผลดังกล่าวได้ปรากฎในส่วนของหมายเหตุ :- เหตุผลประกอบในการประกาศใช้พระราชบัญญัติ

พ.ศ. 2480 มูลนิธิฮั่วเคี้ยวป่อเต็กเซียงตึ๊ง ได้ริเริ่มให้บริการขนส่งศพไม่มีญาติ

ระบบการแพทย์ฉุกเฉินในประเทศไทยเริ่มต้นจากมูลนิธิฮั่วเคี้ยวป่อเต็กเซียงตึ๊ง (มูลนิธิป่อเต็กตึ๊งในปัจจุบัน) ได้ริเริ่มให้บริการขนส่งศพไม่มีญาติใน พ.ศ. 2480 ในเวลาต่อมาได้ให้บริการรับส่งผู้ป่วยและผู้บาดเจ็บฉุกเฉิน เช่นเดียวกับใน พ.ศ.2513 ที่มูลนิธิร่วมกตัญญูได้เปิดให้บริการในลักษณะเดียวกัน ได้เป็นต้นกำเนิดของระบบการแพทย์ฉุกเฉินที่คนทั่วไปสามารถเข้าถึงการบริการได้โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ และไม่ใช่บริการเฉพาะกิจ ระบบการแพทย์ฉุกเฉินในประเทศไทยจึงได้รับการพัฒนาขึ้นนับตั้งแต่นั้นมา พร้อมๆกับการพัฒนาเครื่องมือและอุปกรณ์ช่วยชีวิตในห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลแต่ละแห่ง ทั้งภาครัฐ และเอกชน

ใน พ.ศ.2536 กระทรวงสาธารณสุขได้รับความช่วยเหลือทางเทคนิคจาก Japan International Cooperation Agency (JICA)ในการจัดตั้งศูนย์อุบัติเหตุ (Trauma Center) ณ โรงพยาบาลขอนแก่น ซึ่งครอบคลุมการให้บริการช่วยเหลือก่อนถึงโรงพยาบาล (pre-hospital care) ด้วย ต่อมา พ.ศ.2537 โรงพยาบาลวชิรพยาบาลได้เปิดให้บริการรถพยาบาลฉุกเฉินโดยใช้ชื่อว่า SMART (Surgico-Medical Ambulance and Rescue Team) ตามแผนป้องกันอุบัติภัยของกรุงเทพมหานคร และ พ.ศ.2538 กระทรวงสาธารณสุขได้เปิดตัวต้นแบบระบบรักษาพยาบาลก่อนถึงโรงพยาบาล ณ โรงพยาบาลราชวิถีในชื่อ “ศูนย์กู้ชีพนเรนทร” โดยภายหลัง โรงพยาบาลนพรัตนราชธานีและโรงพยาบาลเลิดสิน ได้เข้าร่วมเครือข่ายให้บริการด้วย

พ.ศ.2538 กระทรวงสาธารณสุข เปิดตัว “ศูนย์กู้ชีพนเรนทร” ณ โรงพยาบาลราชวิถี
ต่อมากระทรวงสาธารณสุขได้จัดตั้งสำนักงานระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน ขึ้นเป็นหน่วยงานในสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขและดำเนินงานการแพทย์ฉุกเฉินมาอย่างต่อเนื่อง หน่วยงาน/องค์กรทั้งหลายที่กล่าวมานี้จึงเป็นต้นกำเนิดที่มาของ “สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ” ทำหน้าที่พัฒนางานการแพทย์ฉุกเฉินมาจนมีความก้าวหน้า และผลงานเป็นที่ประจักษ์ในวงกว้าง
การขยายบทบาทมาเป็นสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ซึ่งเป็นองค์กรของรัฐที่มีฐานะเป็นนิติบุคคลในกำกับของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ก็เพื่อให้มีรูปแบบการบริหารจัดการที่มีความคล่องตัวและสามารถบริหารงานตามนโยบายการบริหารงานของคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉินได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้การแพทย์ฉุกเฉินของประเทศไทย สามารถก้าวกระโดดไป ส่งผลให้ผู้ป่วยฉุกเฉินได้รับการคุ้มครองสิทธิในการเข้าถึงระบบการแพทย์ฉุกเฉินอย่างทั่วถึง เท่าเทียม มีคุณภาพมาตรฐาน ตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติการแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ.2551 ได้อย่างแท้จริง
วันถือกำเนิดของ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ก็คือวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงลงพระปรมาภิไธยในพระราชบัญญัติ คือ วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2551 นั่นเอง

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลีฯ เสด็จเป็นประธานปล่อยคาราวาน เฮลิคอปเตอร์โปรยอาหาร-เวชภัณฑ์ ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมน้ำท่วมที่ยากต่อการเข้าถึง

เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2554 ณ ลานเฮลิคอปเตอร์ อาคารสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีปล่อยคาราวานเฮลิคอปเตอร์โปรยเวชภัณฑ์และถุงอาหารประทังชีพเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ซึ่งคาราวานดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่างมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติละสิ่งแวดล้อม (ทส.) ตลอดจนภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง โดยมีนายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัด สธ. และข้าราชการ สธ.เฝ้าฯ รอรับเสด็จ ในการนี้ ประทานปลอกแขนเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) แก่นักบินและลูกเรือ ที่ร่วมปฏิบัติการในครั้งนี้ด้วย


เนื่องจากสถานการณ์น้ำท่วมในครั้งนี้ได้ขยายวงกว้างอย่างมาก และมีผู้ประสบภัยหลายพื้นที่เกิดปัญหาในการอพยพไม่ทัน ประกอบกับอาศัยอยู่ในพื้นที่ซึ่งยากต่อการให้การช่วยเหลือทางรถและเรือ จึงจำเป็นต้องประสานความร่วมมือภาคีเครือข่ายให้มีการนำเฮลิคอปเตอร์เข้าให้การช่วยเหลือประชาชนในครั้งนี้

โดยมี 12 จุดที่ต้องนำคาราวานเฮลิคอปเตอร์โปรยเวชภัณฑ์ช่วยเหลือ ซึ่งพื้นที่ 12 จุดได้แก่ 1.บ้านศรีสมบูรณ์ เทศบาลอ้อมน้อย อ.กระทุ่มเบน จ.สมุทรสาคร 2.วัดลาดปลาดุก อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี 3.อบต.บ้านม่วง หมู่บ้านพร้อมจิตร 4.สถานีอนามัยลำโพ อ.บางบัวทอง 5.ร.ร.ชุมชนบ้านใหม่ ต.ลุมพุก อ.บางใหญ๋ จ.นนทบุรี 6.อบต.คูบางหลวง อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี 7.ต.บางเตย อ.สามโคก จ.ปทุมธานี 8.ต.คูขวาง อ.ลาดหลุมแก้ว ชุมชนมุสลิมคลองบางโคเหนือ 9.อ.บางกรวย จ.นนทบุรี 10.ลำลูกกา จ. ปทุมธานี 11.บ้านปิ่นเจริญ ดอนเมือง กทม. และ 12.ชุมชนบางคู้บอน กทม.


ทางหน่วยงานได้มีการสำรวจพื้นที่อย่างจริงจัง ตลอดจนมีการคัดเลือกอาหารและเวชภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพ โดยเน้นที่น้ำหนักเบา มีภาชนะห่อหุ้มมิดชิด สามารถลอยน้ำได้ โดยสิ่งของทุกอย่างกำหนดวันหมดอายุในอีก 2 ปี ซึ่งทุกพื้นที่นั้นได้รับรายงานความเดือดร้อยโดยตรงจากผู้นำชุมชน และในการดำเนินการโปรยอาหารทางอากาศครั้งนี้จะทำโดยผู้เชี่ยวชาญทุกด้าน ซึ่งเฮลิคอปเตอร์ทั้ง 6 ลำได้รับการสนับสนุนจาก เฮลิคอปเตอร์ครอบครัวข่าว3 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติแหละสิ่งแวดล้อม และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งจะทยอยลำเลียงอาหารและเวชภัณฑ์กระจายสู่ประชาชนอย่างทั่วถึง